สายพันธุ์แมวมงคลของไทย
1.วิเชียรมาศ (siamese)
เป็นแมวไทยโบราณเพียงชนิดเดียวที่มีดวงตาสีฟ้า และเป็นต้นแบบให้แมวทั่วโลกอีกหลายชนิด ที่มีบรรพบุรุษมาจากแมวไทยวิเชียรมาศ
ตำราแมวไทยโบราณสะกดชื่อแมวชนิดนี้ไว้ต่างกัน เช่น มาส ที่หมายถึงพระจันทร์และดวงเดือน และ มาศ ที่หมายถึงทองคำ ดังนั้น คำว่าวิเชียรมาศ หรือวิเชียรมาส จึงสามารถเขียนได้ทั้ง 2 แบบ ส่วนคำว่าวิเชียร แปลว่า เพชร หรือสายฟ้า แต่ตำราแมวที่ถูกคัดลอกไว้มากที่สุดสะกดด้วย “มาศ”
แมววิเชียรมาศในยุคหลังจึงหมายถึงเพชรและทอง แมววิเชียรมาศยังเคยถูกใช้เป็นสัตว์ทูตสันถวไมตรี ที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพ และกงสุลอังกฤษได้นำกลับไปกรุงลอนดอนจนกลายเป็นที่โด่งดัง และเรียกแมวชนิดนี้ว่า Siamese cat ตามประเทศที่มา
2. สีสวาด หรือ โคราช(Korat)
แมวสีสวาดเป็นชื่อเรียกในภาษาพื้นบ้าน มาจากสีของลูกสวาดที่มีสีเทา หรือมีอีกชื่อคือ แมวสีดอกเลา เป็นพืชตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง
ในตำราสมุดข่อยโบราณสมัยอยุธยาเรียกแมวชนิดนี้ว่า แมวมาเลศ เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต มาจากคำว่า มาลา + อีส หมายถึง ดอกไม้ของพระอิศวร
แมวสีสวาดยังเป็นแมวท้องถิ่นในจังหวัดนครราชสีมาจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “แมวโคราช” และเป็นชื่อที่คนทั่วโลกรู้จักแมวชนิดนี้ด้วยเช่นกันคือ Korat Cat แมวชนิดนี้มีขนสีเทาและดวงตาสีเหลืองไพฑูรย์ ในตำราสมุดข่อยกล่าวไว้ว่า ผู้ใดเลี้ยงจะนำสุขสวัสดิ์มงคลมาให้ มีคนเมตตา เป็นที่รักใคร่ของผู้คน
3.ศุภลักษณ์
ชื่อแมวศุภลักษณ์มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต แปลว่าลักษณะที่ดีงาม มีขนสีน้ำตาลสม่ำเสมอทั่วทั้งตัว ไม่มีแต้มเข้มแบบแมววิเชียรมาศ
ภาพเขียนสีในตำราแมวทุกฉบับและภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดโพธิ์ระบุตรงกันว่า แมวศุภลักษณ์มีสีน้ำตาลล้วนทั้งตัวไม่มีแต้มเข้ม ในอดีตเคยสูญหายไปจากประเทศไทยแล้วครั้งหนึ่ง และเคยมีผู้เลี้ยงมหาแมวศุภลักษณ์อยู่หลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม พบแมวไทยชนิดหนึ่งที่มีสีคล้ายกันเรียกว่า “แมวเบอร์มีส” ลักษณะคล้ายแมวศุภลักษณ์ แต่มีแต้มเข้ม 9 แห่งแบบแมววิเชียรมาศ จึงสันนิษฐานว่า แมวชนิดนี้อาจเป็นแมวลูกผสมระหว่างแมวเบอร์มีส และแมววิเชียรมาศ
จากการศึกษาค้นคว้าของผู้เชี่ยวชาญ พบว่า แมวเบอร์มีสไม่ได้เป็นลูกผสมระหว่างแมวศุภลักษณ์ แต่กลับเป็นญาติใกล้ชิดกับแมววิเชียรมาศ มีลักษณะทางพันธุกรรมที่คล้ายกันคือมียีนหน้ากากแบบแต้มเข้ม ขนสีน้ำตาลของแมวเบอร์มีสมาจากยีนสีดำ แบบเดียวกับแมววิเชียรมาศ แต่ถูกข่มสีขนให้เจือจางจนกลายเป็นสีน้ำตาลไหม้
ส่วนแมวศุภลักษณ์จะต้องมีสีล้วนทั้งตัวแบบเดียวกับแมวดำ แมวเทา และแมวขาว เมื่อตรวจยีนแล้วพบว่าแมวศุภลักษณ์เป็นแมวที่มียีนสีน้ำตาลจริง ๆ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่าสีช็อกโกแลต
ในตำราแมวไทยโบราณระบุความมงคลของแมวศุภลักษณ์ไว้ต่างกัน แต่ส่วนใหญ่กล่าวถึงการค้าขายมากกว่า ผู้ใดที่ค้าขายแล้วเลี้ยงแมวศุภลักษณ์จะร่ำรวยเงินทอง ส่วนตำราในวังกล่าวถึงแมวศุภลักษณ์ไว้ว่า เลี้ยงแล้วจะได้ยศฐา ได้เป็นอำมาตย์ และเสนาบดี
4. ขาวมณี หรือขาวปลอด (Khao Manee)
ก่อนหน้านี้ แมวขาวมณีไม่มีบันทึกอยู่ในตำราแมวมงคล 17 ชนิดสมัยอยุธยา แต่ถูกค้นพบเพิ่มเติมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ชื่อเดิมของแมวขาวมณีในตำราสมุดข่อยวัดอรุณฯ คือ “แมวขาวปลอด” ระบุว่า เป็นแมวแก้วหาค่ามิได้ เขียนด้วยภาษาไทยโบราณคล้ายอักษรสมัยอยุธยา ไม่ทราบผู้แต่งและไม่มีคำกลอนเฉพาะเจาะจงแบบแมวมงคล 17 ชนิด เพียงแต่บอกว่า “ให้นรชนผู้มีปัญญาหาเลี้ยงไว้เถิด”
หลักฐานแมวขาวมณีอีกแห่งหนึ่งคือจิตรกรรฝาผนังวัดทองนพคุณฝั่งธนบุรี สันนิฐานว่า แมวขาวมณีพึ่งมาได้รับความนิยมในสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้เอง แมวขาวมณีเป็นแมวที่มีขนสีขาวล้วนทั้งตัว ตาสีเหลือง 2 ข้าง หรือตาสีฟ้าทั้ง 2 ข้างก็ได้ เมื่อนำทั้ง 2 ชนิดมาผสมกันจะได้แมวตา 2 สี
5.โกญจา หรือ โกนจา(Konja)
ในตำราพรหมชาติสะกดว่า “แมวโกญจา” มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต แปลว่า นกกระเรียน หรือเสียงร้องที่ดังกึกก้อง
ในตำราที่ใกล้เคียงกันพบชื่อช้างเผือกตระกูลอัคนิพงศ์ชื่อ โกญจศัพท์ ที่แปลว่า เสียงร้องของนกกระเรียนเช่นเดียวกัน และชื่อพระโกญจนาเนศวร์ มีเศียรเป็นช้างมีกายเป็นมนุษย์
เมื่อวิเคราะห์ดูแล้วแมวดำโกนจาจึงไม่ใช่แมวร้ายหรือแมวผีตามที่คนไทยเข้าใจเลย ในทางกลับกันแมวดำโกนจาเป็นแมวมงคลที่มีอำนาจไล่สิ่งชั่วร้ายออกไป ในตำราโบราณระบุว่าแมวดำโกนจามีตาสีเหลืองดอกบวบ ผู้ใดเลี้ยงไว้จะเพิ่มพูนเงินทอง เหมาะกับผู้ที่ทำการค้าขายเป็นหลัก
ข้อมูลอ้างอิง:
แมวไทย โบราณ 5 สายพันธุ์ มรดกทางวัฒนธรรมที่ยังมีลมหายใจ https://share.google/ULCNpaGo2Q2H70ZYH
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น